วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ฝนหลวงกับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน


หลังจากที่ทรงประสบผลสำเร็จและมีการยอมรับจากทั้งภายในและต่างประเทศแล้วนั้นปริมาณความต้องการฝนหลวงเพื่อช่วยพื้นที่เกษตรกรรม และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้รับการร้องเรียนขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2520-2534 มีการร้องเรียนขอฝนหลวงเฉลี่ยถึงปีละ 44 จังหวัด ซึ่งทรงพระเมตตาอนุเคราะห์ช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการรรเทาการสูญเสียทางเศรษฐกิจให้ประสบความเสียหายน้อยที่สุด นอกจากนี้ประโยชน์สำคัญที่ควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภค ก็คือ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งความชุ่มชื้นที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากฝนหลวงจะช่วยลดการเกิดไฟป่าได้เป็นอย่างมาก  ฝนหลวงได้เข้ามามีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในการบรรเทามลภาวะที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราหลายประการ อาทิเช่น ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำลำคลอง โรคระบาด อหิวาตกโรค การระบาดของศัตรูพืชบางชนิด เช่น เพลี้ย ตั๊กแตกปาทังก้า เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ได้รับความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมตลอดมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับความร่วมมือจากเหล่าพสกนิกรทั่วประเทศที่เห็นคุณค่าของฝนหลวง ดังจะเห็นได้จากการที่ประชาชนในหลายจังหวัดได้ร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในการจัดซื้อเครื่องบินสำหรับทำฝนหลวงเป็นจำนวนมาก  เช่น เครื่องบินแอร์ทรัคซึ่งราษฎรจังหวัดกาญจนบุรีได้ร่วมกันจัดซื้อเมื่อ พ.ศ. 2515 นับเป็นเครื่องแรกที่ได้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อใช้ในกิจกรรมค้นคว้าทดลองปฏิบัติการ ต่อมาราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันจัดซื้อเครื่องบินแอร์ทัวเรอร์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเพื่อใช้ในการบินอำนวยการทดลองปฏิบัติการฝนหลวงอีกเครื่องหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีราษฎรจัดงหวัดขอนแก่น ชลบุรีและกาญจนบุรี ได้ร่วมกันจัดซื้อเครื่องบินปอร์ตเตอร์น้อมเกล้าฯ ถวายใช้ในงานฝนหลวง ความสำคัญในพระองค์ท่านนั้นเห็นได้ชัดเจนซึ่งจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาสให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำชาวสวนจังหวัดจันทบรีเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินซึ่งได้ร่วมกันบริจาคโดยเส็จพระราชกุศลในการจัดซื้อเครื่องบินสำหรับโครงการการทำฝนเทียม และน้อมเกล้าฯ ถวายผลไม้ที่รอดพ้นจากความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยแล้ง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ในวโรกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่ชาวสวนจังหวัดจันทบุรีความว่า
...ท่านทั้งหลายก็เป็นประจักษ์พยานว่า การทำฝนเทียมได้ชุบชีวิตต้นไม้ซึ่งมิฉะนั้นก็เสียหายไปฉะนั้นจึงเกิดความยินดีมากที่ท่านทั้งหลายได้มาพบกันในวันนี้ ได้นำเงินมาสมทบในกิจการฝนเทียม และได้นำพาผลิตผลซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาให้ ความดีใจนี้มีหลายประการอย่างหนึ่งก็ได้เห็นว่าท่านทั้งหลายได้มีความสุขสบาย อีกอย่างหนึ่งก็ที่เห็นว่ากิจการมีผลดีและท่านทั้งหลายทราบดี ก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ร่วมมือทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมมือในกิจการ และกำลังช่วยให้ประชาชนมีความสุข  ความเรียบร้อยทุกประการ ตามหน้าที่อันนี้นำความปลาบปลื้มแก่ข้าพเจ้าอย่างมาก ฉะนั้นก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมืออย่างมีสามัคคีกระชับแน่นแฟ้นที่สุด เป็นทางที่ทำให้ท้องที่มีความเจริญมั่นคง และเมื่อท้องที่มีความเจริญมั่นคงแล้วประเทศย่อมอยู่ได้มีทางที่จะก้าวหน้าเพราะทุกคนร่วมมือกัน ทุกคนช่วยซึ่งกันและกัน ทุกคนมีความเห็นอย่างไรก็แจ้งออกมา ผู้ที่ได้รับฟังก็ย่อมรับฟังด้วยเหตุผลที่ดี อันเป็นวิธีการที่จะอยู่ในชีวิตของประเทศชาติ อันนี้เป็นความปลื้มที่ใหญ่ที่สุดที่เห็นความสามัคคี ความขยันหมั่นเพียร ความซื่อสัตย์สุจริตประจักษ์ออกมา ก็ขอขอบใจทุกท่านทุกฝ่ายที่ได้แสดงว่าเมืองไทยเรา วิธีปฏิบัติ...จะไม่เรียกว่าวิธีการปกครอง...วิธีปฏิบัติทั้งในด้านชีวิต ทั้งในด้านอาชีพ ตั้งแต่การเป็นอยู่ส่วนตัว จนกระทั่งถึงการจัดระเบียบการทุกขั้นอย่างมีเหตุผล มีจิตใจเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน เป็นความหวังสำหรับอนาคตของบ้านเมืองที่จะทำให้เมืองไทยคงอยู่ด้วยความผาสุกด้วยความมั่นคงไปตลอดกาล...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น