วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

บทบาทฝนหลวงวันนี้


เริ่มจากแก้ไข ภัยแล้ง ก้าวไปสู่การบรรเทา สาธารณภัย และเพิ่มพูน เศรษฐกิจ
ฝนหลวง ต้องเข้ามารับภาระหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์มากเกินกว่าที่คาดคิดกันไว้นัก เพราะ ฝนหลวง กลับกลายจากจุดมุ่งหวังที่ในครั้งแรกเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งนั้น ได้รับการร้องขอให้ขยายการบรรเทาความเดือดร้อนที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอีกด้วย กล่าวคือ ฝนหลวง มีส่วนช่วยเหลือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยหลายประการดังนี้
  • ด้านการเกษตร มีการร้องขอฝนหลสงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่เกิดภาวะฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงยาวนานซึ่งมีผลกระทบต่อแหล่งผผลิตทางการเกษตรที่กำลังให้ผลผลิต เช่น แถบจังหวัดจันทบุรี  หรือเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เป็นจำนวนมากหลายราย ซึ่งได้พระราชทานความช่วยเหลือเสมอมา ทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เป็นต้น โดยเฉพาะในปีที่เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำที่เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถจัดเก็บน้ำจากฝนหลวงนับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2536 ถึง 28 ตุลาคม พ.ศ. 2536 อันเป็นวันสุดท้ายของการปฏิบัติงานฝนหลวงในปีนั้นได้ถึง 4,204.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ก่อนทำฝนหลวงมีน้ำเหลือเพียง 3,497.79 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
  • เพื่อการอุปโภค บริโภค ภาวะความต้องการน้ำทั้งจากน้ำฝนและอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นความต้องการที่สามัญของผู้คนอย่างยิ่ง การขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ มีความรุนแรงมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากคุณสมบัติของดินในภูมิภาคนี้เป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถอุ้มซับน้ำได้ จึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ดีเท่าที่ควร
  • ช่วยในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ภายใต้พื้นดินของภาคอีสานมีแหล่งหินเกลือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง ดังนั้น อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีทางระบายออก หากมีปริมาณน้ำเหลือน้อย น้ำจะกร่อยหรือเค็มได้ เพราะหินเกลือที่อยู่ด้านล่างเกิดมีการละลายแล้วลอยตัวเคลื่อนที่ขึ้นามาบนผิวดิน
  • เสริมสร้างเส้นทางคมนาคมทางน้ำ เมื่อการขาดปริมาณน้ำเกิดขึ้นดุจภาวะลูกโซ่เช่นนี้ ก็ส่งผลมาถึงระดับน้ำในแม่น้ำลดต่ำลงบางแห่งตื้นเขินจนไม่สามารถสัญจรไปมาทางเรือได้ เช่น ทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบางตนในปัจจุบันการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้กับบริเวณดังกล่าวจึงนับเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการขนส่งสินค้าทางน้ำเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางอื่น และการจราจรทางบกนับวันจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกขณะ
  • ป้องกันและบำบัดภาวะมลพิษของสิ่งแวดล้อม หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดน้อยลงเมื่อใด น้ำเค็มจากทะเลอ่าวไทยก็จะไหลหนุนเนื่องเข้าไปแทนที่ทำให้เกิดน้ำกร่อยขึ้น และเกิดความเสียหายแก่เกษตรกรเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพล เพื่อผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนเข้ามาทำความเสียหายต่อการอุปโภค บริโภคหรือเกษตรกรรม รวมทั้งสิ่งที่เราอาจไม่คาดคิดมาก่อนว่า ฝนหลวง ได้บรรเทาภาวะสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอันเกิดจากการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและขยะมูลฝอยที่ผู้คนทิ้งลงในสายน้ำกันอย่างมากมายนั้น ปริมาณน้ำจากฝนหลวงจะช่วยผลักดันออกสู่ท้องทะเล ทำให้ภาวะมลพิษจากน้ำเสียเจือจางลง ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากขยะมูลฝอยและกระแสน้ำเสียต่างสีในบริเวณปากน้ำจนถึงเกาะล้านเมืองพัทยา
  • เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพื่อผลิตแระแสไฟฟ้า บ้านเมืองของเราประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าขึ้นทุกขณะ เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณสูงมากจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เมื่อเกิดภาวะวิกฤติระดับน้ำเหนือเขื่อนมีระดับต่ำมากจนไม่เพียงพอต่อการใช้พลังงานน้ำ ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งให้ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงจนถึงขนาดเกรงกันว่าอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ในการประหยัดพลังงานไฟฟ้ากันบ้างเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
การทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล ซึ่งเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่งที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ 2536 ฝนหลวงได้มีส่วนในการเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการใช้พลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามิให้การพัฒนาด้านต่างๆ เกิดการสะดุดหยุดชะงักและสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นมั่นคง ในปีนี้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ถึง 5,274.63 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยที่ปริมาณน้ำก่อนปฏิบัติการฝนหลวงเหลือเพียง 4,037.30 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่าทำให้กำลังผลิตสำรองกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้ในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอ

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณโครงการฝนหลวง ช่วยชาวนาอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ได้สมหวังจริงๆ

    ตอบลบ